แบงก์ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) ลุยปรับโครงสร้างธุรกิจหลังควบรวมเรียบร้อย แยกธุรกิจ “บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล” ตั้งบริษัทใหม่ “ttb consumer” หวังขยายฐานลูกค้ากว้างขวางขึ้น-หนุนสินเชื่อโต “ปิติ” ตั้งเป้าดันบริษัทใหม่ขึ้นแท่นท็อป 4 พร้อมตั้งหน่วยงานใหม่ “ttb spark” เพิ่มความคล่องตัวในการทดลองพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่นใหม่ ๆ ตลอดจนพัฒนาบุคลากร-สร้างกลุ่มคนใหม่ที่มี digital DNA มาร่วมช่วยพัฒนาดิจิทัล เตรียมเปิดตัว “ttb touch” เวอร์ชั่นใหม่สู่ผู้ช่วยทางการเงินส่วนตัว เม.ย.นี้ ปักธงก้าวสู่ดิจิทัลแบงกิ้งอันดับ 3

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) เปิดเผยว่า หลังจากควบรวมกิจการแล้วเสร็จเมื่อปีก่อน ในปี 2565 นี้ธนาคารมีกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้แนวคิด “The Bank of Financial Well-being” โดยจะเสริมความสามารถในด้านต่าง ๆ ทั้งการปรับโครงสร้างธุรกิจและจับมือพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ รวมถึงการเร่งเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลเพื่อยกระดับการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต

ทั้งนี้ ในการปรับโครงสร้างธุรกิจ ธนาคารจะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ ภายใต้ “ttb consumer” โดยแยกธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมาอยู่ในบริษัทดังกล่าว เพื่อเป้าหมายการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างมากขึ้น เนื่องจากโมเดลเดิมจะเน้นการหาลูกค้าผ่านช่องทางสาขา ทำให้เจอลูกค้าได้ยากขึ้น

เพราะพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปไม่เดินเข้าสาขาธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นฐานลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ หรือลูกค้ามนุษย์เงินเดือน หรือฐานลูกค้าที่เดินบัญชีเงินเดือนผ่านธนาคาร (payroll) ที่มีกว่า 1 ล้านราย ดังนั้น การจัดตั้ง “ttb consumer” จะทำให้ธนาคารสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ดีขึ้นและหนุนการเติบโตของสินเชื่อ โดยธนาคารตั้งเป้าหมายขึ้นเป็นอันดับ 4 ของธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

“การจัดตั้งบริษัทใหม่ ‘ttb consumer’ จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำทีละเฟส และไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีหลาย ๆ ที่ทำกันไปแล้ว โดยการตั้งบริษัทจะทำให้เราเจาะกลุ่มลูกค้าเก่าและหาลูกค้าใหม่ได้ดีขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าธุรกิจบัตรเครดิตของเรามีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งในแง่ยอดการใช้จ่ายและสมัครบัตรใหม่ และการสมัครบัตรใหม่มากกว่า 50% จะมาจากช่องทางดิจิทัล ทั้งนี้ บริษัทใหม่จะเป็นการเปลี่ยนโมเดลหาลูกค้าผ่านสาขาเป็นดิจิทัลมากขึ้น” นายปิติกล่าว

นายปิติกล่าวว่า ธนาคารยังได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ “ttb spark” ทำงานในรูปแบบ agile เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางด้านดิจิทัล โดยมีเป้าหมาย 2 อย่าง คือ

1.การเพิ่มความคล่องตัวในการทดลองพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่นสิ่งใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ ตรงใจใช้ง่าย และมีประโยชน์ต่อลูกค้าธุรกิจและบุคคล

และ 2.การพัฒนาบุคลากรและสร้างกลุ่มคนใหม่ที่มี digital DNA มาร่วมช่วยพัฒนาดิจิทัล เช่น การพัฒนาโมบายแบงกิ้ง “ttb touch” และจะพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้าใช้งานกว่า 4 ล้านราย ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าขึ้นเป็นอันดับ 3 ของดิจิทัลแบงกิ้ง

ทั้งนี้ ธนาคารจะเปิดตัว “ttb touch” เวอร์ชั่นใหม่ในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งจะพลิกโฉมแอป “ttb touch” สู่ผู้ช่วยทางการเงินส่วนตัว ช่วยให้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้นรอบด้าน

นายปิติกล่าวด้วยว่า ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาธนาคารได้เข้าซื้อหุ้น 10% ในบริษัท ธนชาตประกันภัย และบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต สร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านประกันและการลงทุน สร้างทางเลือกที่หลากหลายให้กับลูกค้า

รวมไปถึงการที่ ttb broker ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารได้ขยายเครือข่ายพันธมิตรบริษัทประกันภัยรวมกว่า 20 บริษัท เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและคุ้มครองความเสี่ยงให้กับลูกค้าของธนาคารได้ครบทุกรูปแบบในราคาที่เหมาะสม

“การปรับตัวของธนาคารมีหลักเดียว คือ ตอบสนอง need และ pain point ของลูกค้า และถ้าปรับตัวและไม่ตอบสนองลูกค้าก็ไม่น่าจะมีประโยชน์ทั้งลูกค้าขนาดใหญ่ ลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้าบุคคล นอกจากสร้างโปรดักต์แล้วการเข้าถึงที่ดีที่สุด คือ ดิจิทัล ที่เป็นการปรับตัวสำคัญ ขณะที่การควบรวมกิจการของทั้ง 2 ธนาคาร จะมี 3 แกนได้ประโยชน์ คือ 1.งบดุล ที่จะสมดุลขึ้น 2.ต้นทุนของธนาคาร จะประหยัดลง และ 3.synergy ของรายได้ โดยเรื่องที่ 1 และ 2 ทำได้ค่อนข้างดีผ่านส่วนต่างดอกเบี้ยและต้นทุนที่ลดลงเรื่อย ๆ ส่วนในปีนี้เราจะมาโฟกัสในเรื่องของรายได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ขายของแต่ต้องตอบโจทย์ลูกค้าด้วย” นายปิติกล่าว

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance