วีซ่ายอมรับ โควิดกระทบหนัก ทั้งธนาคารและร้านค้าสมาชิก จากรายได้ท่องเที่ยวต่างประเทศ ฉุดรายได้ก้อนใหญ่หาย ลั่นปี 65 เป้าหมายต้องดีกว่า ลุ้น รายจ่ายท่องเที่ยวจะค่อยๆกลับมา เล็งออกบัตร SMEs หนุนผู้ประกอบการขึ้นแพลตฟอร์มเปิดตลาดโลก
ผลสำรวจของวีซ่า ประเทศไทยพบว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยพึ่งพาเงินสดน้อยลง และก่อให้เกิดทัศนคติที่ดียิ่งขึ้นต่อการใช้จ่ายเงินในรูปแบบดิจิทัล โดยพบว่า มากกว่า 3 ใน 5 หรือ 61% ของผู้บริโภคชาวไทยบอกว่า พวกเขาถือเงินสดน้อยลงในช่วงปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักๆ นอกจากความกังวลเรื่องการติดต่อของโรคระบาดผ่านการถือเงินสดแล้ว จำนวนร้านค้าที่รับชำระแบบดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้นด้วย
นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทยเปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วีซ่ายอมรับว่าเหนื่อย ในแง่ของการใช้จ่ายที่หายไปจากปริมาณธุรกรรมรายได้ใหญ่ๆ เช่น การท่องเที่ยวต่างประเทศ แม้ว่าจะเห็นการใช้จ่ายผ่านอีคอมเมิร์ชที่เติบโตขึ้น แต่ไม่สามารถทดแทนธุรกรรมขนาดใหญ่ที่หายไปได้ ทำให้มีผลกระทบทั้งธนาคารและร้านค้าสมาชิก
“อีคอมเมิร์ชที่เติบโตช่วงล็อคดาวน์นั้น เป็นภาวะไม่ปกติ แม้เราจะเติบโตขึ้นมากจากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่เกิดขึ้น ทั้งคอนซูเมอร์ทั่วไป, B2B จะเป็นร้านค้าที่อาจจะรับเฉพาะแผนกบัญชี แต่แนวโน้มมองว่า มีโอกาสเพิ่มขึ้น ซึ่งวีซ่าต้องทำกิจกรรมรองรับอีคอมเมิร์ช เช่น บัตรไปผูกกับแพลตฟอร์ตผู้ใช้สะดวกและธนาคารผู้ออกบัตรก็ชื่นชอบ” นายสุริพงษ์ กล่าว
ทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคคนไทย
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มมีสัญญาณเชิงบวกจากการเปิดประเทศและ Test &Go การท่องเที่ยวในหลายประเทศ แต่ยังไม่เห็นภาพของการกลับมาของการใช้จ่ายเหมือนปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 แต่คาดหวังว่า หลังจากนี้จะดีขึ้น การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวต่างประเทศจะค่อยๆ กลับมา
สำหรับเป้าหมายปี 2565 เชื่อว่า ทุกธุรกิจเผชิญสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ต้องตั้งเป้าให้ดีกว่าเดิมรวมทั้งวีซ่าด้วย ซึ่งที่ผ่านมีพันธมิตรหลากหลาย นอกจากภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงิน และอีคอมเมิร์ชหรือผู้ให้บริการซื้อขายออนไลน์ โดยปีที่ผ่านมา มีร้านค้าเพิ่มเป็น 70 ล้านร้านค้า ส่วนหนึ่งมาจากพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่เข้าสู่แพลตฟอร์มจากก่อนหน้ามีเพียง 50 ล้านร้านค้า
รวมถึงบริการ Contact Less Card สำหรับ “แตะเพื่อจ่าย” ด้านขนส่งสาธารณะอย่างทางด่วนปัจจุบันมี 300-400 ด่าน รถไฟใต้ดินหรือ MRT 2 สายสีน้ำเงินและสีม่วงผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิตวีซ่า ซึ่งอนาคตจะเพิ่มสถานีและต่อยอดเพิ่มเรื่อยๆ
นอกจากนั้นวีซ่า ยังจะร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีเข้าสู่แพลตฟอร์มเปิดตลาดโลกและเชื่อมเครือข่ายได้กว้างขึ้น โดยได้หารือกับธนาคารพาณิชย์หรือร้านค้าที่รับบัตรวีซ่าที่จะช่วยเปิดตลาด ซึ่งในวีซ่ามีบัตร 3,000 ล้านใบทั่วโลกและเมืองไทยมีสัดส่วนเอสเอ็มอีจำนวนมากที่อนาคตจะออกบัตรเอสเอ็มอี
สำหรับด้านการขนส่งมวลชนสาธารณะนั้น จุดที่วีซ่าทำงานร่วมกับโอเปอเรเตอร์ทั่วโลกกว่า 500 โครงการ เฉพาะเมืองไทยยังอยู่ในกระบวนการต่อยอดเรื่อยๆ โดยโครงการที่ดำเนินการแล้ว 4-5 โครงการ เช่น บริการรถไฟใต้ดิน (MRT) 2 สาย (สีน้ำเงิน-สีม่วง) ในอนาคตนอกจากจะเพิ่มจำนวนสถานีแล้วจะสามารถรองรับบัตรอื่นได้ด้วย (ALL Networks)
โครงการทางด่วน (ทางพิเศษ)และเรือด่วน เป็นเทรนด์ใหม่ของทั้งโลก ซึ่่งเมืองไทยมีวีซ่าเข้ามา เพื่อตอบโจทย์ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวในไทยและอนาคตจะมีเรื่องการทำธุรกิจการชำระเงิน โดยจัดตั้งทีมความยั่งยืนศึกษาการปล่อยคาร์บอนด์(Net Zero Carbon) ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ โดยทีมนี้จะประสานงานกับหลายภาคส่วน นอกจากความสะดวก สะอาด ปลอดภัยและต้องช่วยโลกและสังคมด้วย
ส่วนเทรนด์ในอนาคตคือ เรื่องสกุลเงินดิจิทัลหรือ คริปโตเคอเรนซี ผลสำรวจเบื้องต้นพบว่า ลูกค้าในไทยสนใจลงทุนเป็นเรื่องแรก โดยพบว่า 69% ให้ความสนใจลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล โดยหลักๆ จะเป็นกลุ่ม GEN-Y สนใจ 79% รองลงทุนเป็น GEN-Z สนใจ 75% และ GEN-X สนใจ 61%
ส่วนความสนใจเรื่อง คริปโตด้านบริการชำระเงิน มีทั้งสนใจและไม่สนใจ 43% สนใจมาก 26% เฉยๆ 19% และไม่สนใจเลย 12% ส่วนพฤติกรรมจริงอาจจะลงทุนหรือไม่ลงทุนนั้นเป็นอีกเรื่อง
“ในเมืองไทยยังไม่สนับสนุนใช้เงินดิจิทัลบริการชำระเงิน แต่หากดูจากต่างประเทศไม่ว่าสหรัฐหรือยุโรป ทางวีซ่าร่วมมือกับแพลตฟอร์มสมาชิกที่ออกบัตรใช้สกุลเงินคริปโต ซึ่งวีซ่าจะเป็นตัวเชื่อมในการชำระเงินดิจิทัล โดยแปลงเป็นสกุลเงินท้องถิ่น ก่อนจะวิ่งในระบบของวีซ่า”นายสุริพงษ์กล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,763 วันที่ 6 – 9 มีนาคม พ.ศ. 2565
อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market