รมว.คลัง สั่ง ธอส. ตรึงดอกเบี้ยบ้านถึงสิ้นปี’65 หนุนคนมีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัย หลังแบงก์พาณิชย์เข้มการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ลูกค้าหันมาพึ่ง ธอส. มากขึ้น

วันที่ 31 มีนาคม 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะของสหรัฐ ที่ธนาคารกลางได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุด 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% และยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอีกนั้น ก็เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นสูงนั้น ในส่วนของไทยเอง ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า การปล่อยสินเชื่อใหม่ของ ธอส. ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างดี เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยที่จะปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ลูกค้าระดับรายได้ปานกลางหันมาใช้สินเชื่อของ ธอส. มากขึ้น

พร้อมย้ำว่า จากพันธกิจของ ธอส. ที่ต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยของตนเอง จึงได้มอบนโยบายให้ ธอส. ตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุด หรืออย่างน้อยภายในปี’65 นี้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรการรัฐที่ผ่านมา ได้ออกมาตรการช่วยเหลือภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้ ขณะที่ด้านผู้ประกอบการได้มีมาตรการของ ธปท. ในโครงการพักทรัพย์พักหนี้

สำหรับผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีสถาบันการเงินเข้ามาขอสินเชื่อแล้ว 11 แห่ง มีลูกหนี้รวม 253 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทลงเหลือ 0.01% รวมทั้งขยายโครงการบ้านล้านหลังเฟส 2 ซึ่งขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก แต่ยอดทำนิติกรรมจริงยังไม่เต็มวงเงิน เนื่องจากอาจรอประเมินสถานการณ์ก่อน

ขณะที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สาเหตุที่รัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการ เนื่องจากการปรับลดภาษีดังกล่าวในช่วงที่ผ่านถึง 90% นั้นส่งผลกระทบต่อรายได้ท้องถิ่นหายไปประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทบต่องบประมาณที่ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งถนนหนทาง น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ภาคอสังหาฯมีการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และชลบุรี ก็มีความจำเป็นในการบริหารและพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ต่ออายุมาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวหรือไม่นั้น ภาคอสังหาริมทรัพย์จะเป็นตัวนำ ซึ่งมูลค่าของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 4.8% ของจีดีพี แต่หากรวมซัพพลายเชนในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง จะมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 7.2% ของจีดีพี และหากรวมไปถึงกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ หรืออุปกรณ์ตกแต่งบ้านจะคิดเป็นมูลค่ารวมเกือบ 10% ของจีดีพี

“ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นจากยอดขออนุญาตการจัดสรรที่ดินและการก่อสร้างที่จะเริ่มมีมากขึ้นในปี’65 ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัย พบว่ามีความต้องการใกล้เคียงกับซัพพลาย จึงยังไม่เห็นภาวะโอเวอร์ซัพพลายของภาคอสังหาริมทรัพย์ พร้อมมีมุมมองต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี’65 ซึ่งต่อเนื่องไปถึงปี’66 ว่ายอดสินเชื่อใหม่จะมีอัตราการเติบโตอย่างแน่นอน”

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance